วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553

1 วันโคตรร้อน ... กับที่ที่มนุษย์กรุงอย่างผมไม่เคยคิดไป

เตรียมการไว้แล้วอย่างดิบดีที่จะท่องยุทธภพแท้ๆ ทั่วดินแดนต้าซ่ง แต่อยู่มาวันหนึ่งก็คิดขึ้นมาได้ว่า แล้วเมืองไทยล่ะ อยู่ประเทศนี้แท้ๆ เที่ยวง่ายกว่ากันตั้งเยอะ ไปมันทั่วแล้วหรือยัง นักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ไกลครึ่งค่อนโลกยังอุส่าห์ดั้นด้นมาเที่ยว เราเองอยู่ที่นี่แท้ๆ กลับไม่เคยคิดจะไป

อย่าว่าแต่เมืองไทยทั่วประเทศเลยครับ เอาแค่ในกรุงเทพ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ อยู่ในคู่มือนักท่องเที่ยวทุกเล่ม อยู่ใกล้แค่นั่งรถเมล์ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก็ยังไม่เคยคิดจะไปซักดูซักครั้ง ว่าทำไมสถานที่เหล่านี้ถึงได้เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวทั้งหลาย

ทั้งวัดพระแก้ว วัดโพธิ์ วัดอรุณ พระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งวิมานเมฆ ( ผมเห็นหลายที่เพี้ยนไปเป็นพิมานเมฆ) วัดเบญจมบพิตร เชื่อว่าหลายคนก็คงเหมือนผม ที่ไม่แม้แต่จะคิดไป ผมลองคิดไปคิดมาว่าเพราะอะไรถึงไม่เคยคิดจะไปซักที ... คิดไม่ออกครับ เหมือนมองข้ามไปเฉยๆซะอย่างนั้น

วันนี้ไหนๆจะมีใจแล้วก็ไปซะเลย ผมเริ่มต้นด้วยการนั่งรถเมล์ไปลงแถวๆ วัดโพธิ์ เข้าไปภายในวัด ก็รู้สึกได้ว่า เหมือนกับสถานที่แห่งนี้สร้างไว้เพื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น สัดส่วน คนไทย ต่อคนต่างชาติ น่าจะอยู่ ซัก 1 : 10 ก็ไม่น่าจะเวอร์ไปนัก คนไทยส่วนน้อยอย่างผมถึงกับประดักประเดิดไม่น้อยว่า เอ็งหลงมาได้ไงหว่า เรากลายเป็นชนกลุ่มน้อยในเมืองกรุงไปได้อย่างไรเนี่ย

( รูปปั้นทหารจีน หาดูได้ง่ายๆที่วัดโพธิกรุงเทพของเรานี่เอง ไม่ต้องไปไกลถึงซีอานเมืองจีน )

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร /-เชดตุพนวิมนมังคฺลาราม-/ หรือ วัดโพธิ์ เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย จัดเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลในรัชกาลที่ 1 ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง และทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกเมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2551 ในแง่ของการท่องเที่ยวแล้ว วัดโพธิ์ได้รับความนิยมเที่ยวเป็นลำดับที่ 24 ของโลก ในปี พ.ศ. 2549 โดยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนในปีนั้นถึง 8,155,000 คน

( พระพุทธไสยาสในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม )

วิหารพระพุทธไสยาส[5] สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวที่ทรงโปรดฯ ให้ขยายพระอารามออกมาทางทิศเหนือ (เข้ามาซ้อนทับเขตวัดโพธารามเดิม ที่ถูกยุบไปก่อนหน้านี้) โดยพระองค์ทรงโปรดให้พระองค์เจ้าลดาวัลย์เป็นแม่กองในการก่อสร้าง โดยได้สร้างพระพุทธไสยาสขึ้นก่อน แล้วจึงสร้างพระวิหารภายหลัง โดยมีขนาดเท่ากับพระอุโบสถ บริเวณผนังของวิหารนั้น

( เข้าใจผิดมาซะนานว่านี่คือยักษ์วัดโพธิ์ )

ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ก่ออิฐ ถือปูน ปิดทองทั่วทั้งองค์ และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ โดยมีลักษณะพิเศษ ได้แก่ พระบาทซ้ายและขวาซ้อนเสมอกัน โดยที่พระบาทประดับมุกภาพมงคล 108 ประการ ตรงกลางเป็นรูปจักรตามตำรามหาปุริสลักขณะ โดยลวดลายของมงคล 108 ประการนั้น เป็นการผสมผสานกันระหว่างคติความเชื่อที่รับมาจากชมพูทวีปและจีน

( บังเอิญเหมือน ฝรั่งคนนี้ยืนพักในท่าที่เหมือนกับรูปปั้นทหารโดยบังเอิญ )

ที่เห็นสะดุดตา และเป็นเอกลักษณ์ของวัดมานาน น่าจะเป็นรูปปั้นทหารจีนเหล่านี้ เด่นจนเหมือนมาขโมยซีน สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญอื่นๆในวัด จนบางครั้งทำให้เข้าใจผิดไปว่ายักษ์วัดโพธิ์ที่เราได้ยินกันมานั้นคือรูปปั้นทหารเหล่านี้ ( ตัวใหญ่ๆ เฝ้าอยู่ที่ประตูวัด ) แต่ที่ถูกคือรูปปั้นคล้ายยักษ์ในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ที่ตั้งอยู่ที่ซุ้มประตูทางเข้ามณฑป ... อืม เราก็หลงเข้าใจผิดมาตั้งนาน

แค่สถานที่แรกก็รู้สึกว่าเดินเที่ยวในเมืองไทยตอนเวลาบ่ายสองนั้นช่วงหน้าร้อนแบบนี้มันทรมานขนาดไหน ไม่ใช่แค่ร้อน แต่มันเผาจนเหมือนผิวหนังมันกำลังจะพองออกมา แต่ยังไงก็สู้ครับ เดินต่อไปที่ท่าเตียน เพื่อรอขึ้นเรือ ( ด่วนเจ้าพระยา ) ไปที่ท่าเรือเทเวศน์

( พระปรางค์วัดอรุณ เอกลักษณ์อีกแห่งของแม่น้ำเจ้าพระยา )

ฝั่งตรงข้ามท่าเตียนจะเป็นวัดอรุณราชวราราม นั่งเรือข้ามฟากไปก็ 3 บาท แดดเปรี้ยงส่องกระทบพระปรางค์ในบ่ายวันนี้ สมกับชื่อวัดแจ้งจริงๆครับ โดยส่วนตัวผมว่าวัดอรุณในยามค่ำคืน ดูงดงามมากกว่า ด้วยแสงสีทองส่องกระทบกับตัวพระปรางค์ สวยงามน่ามอง ไม่แสบตาอย่างตอนบ่ายๆวันนี้

งงๆ อยู่ซักพักที่ท่าเรือ สารภาพว่าเกิดมาไม่เคยนั่งเรือด่วนเจ้าพระยา แล้วมันซื้อตั๋วตรงไหนเนี่ย ฝรั่งบางคนก็เอ๋อๆ เหมือนผม บางคนก็นั่งนิ่งเหมือนรู้ เก่งกว่าเจ้าบ้านอย่างผมซะอีก ด้วยเซ้นส์มันบอกว่าแบบนี้น่าจะตีตั๋วบนเรือเหมือนรถเมล์นั่นแหละ ไม่เหมือนเรือข้ามฟากที่ต้องจ่ายตั้งแต่อยู่ที่ท่าแล้ว แต่ก็สงสัยอยู่ว่า เรือก็ใหญ่ คนก็แน่น เยอะกว่ารถเมล์เยอะ กระเป๋าเรือจะเก็บครบทุกคนได้หรือ

รออยู่เกือบ 20 นาที เรือก็มา เป็นอย่างที่คิดไว้ว่าตีตั๋วบนเรือเหมือนรถเมล์ แต่คนเยอะกว่ามาก แน่นอนว่าน่าจะมีพวกลักไก่ไม่จ่ายอยู่เหมือนกัน แต่ก็คุณธรรมส่วนตัวครับ อย่าไปว่ากันเลย ผมยังเคยแอบสะใจเล็กๆเลยเมื่อมีบางครั้งนั่งรถเมล์แล้วรอดหูรอดตากระเป๋าไปได้ ก็เป็นแค่เรื่องโรคจิตเล็กๆน้อยๆแหละครับ

เรือถึงท่าเทเวศน์ ตั้งใจไว้แล้วว่าจะมาฝากท้องที่ร้าน " ครัวกุ๊กชม " เห็นออกทีวีหลายรายการแล้ว ไม่ได้มาชิมซักที เห็นว่าเคยเป็นเชฟใหญ่ในโรงแรมแล้วออกมาทำเองอยู่ในเพิงเล็กๆ ริมท่าน้ำเทเวศน์ เมนูก็จะเป็นทั้งอาหารจานด่วน และแนวอาหารฝรั่ง ที่ดูแล้วก็แปลกและมีจุดขายกว่าร้านอาหารตามสั่งทั่วไป แถมตั้งราคาไว้ย่อมเยาใครๆก็กินได้ ถึงได้มีคนกินแน่นร้าน

ผมต้องบอกตรงๆตามความรู้สึกว่า ก่อนจะมากินคาดหวังไว้เยอะ จากที่ดูในทีวีมา ว่าจะเลิศหรูอลังการกว่านี้ แต่ก็ผิดหวังเล็กน้อย ไม่ขอวิจารณ์ไปมากกว่านี้นะครับ เอาว่าแล้วแต่ใครจะชอบไม่ชอบแล้วกันครับ

จากที่ดูแผนที่มา จากท่าเรือเทเวศน์ ไปพระที่นั่งวิมานเมฆ น่าจะไม่ไกลนัก 2 กิโลน่าจะได้ กะว่าเดินไปเรื่อยๆ ก็คงถึง แต่ด้วยอากาศที่ร้อนจัด มันล้าๆงงๆบอกไม่ถูก เดินไปๆก็ไม่ถึงซักที สุดท้ายดันไปโผล่ราชดำเนินนอกได้ไงเนี่ย ร้อนตับแตกขนาดนี้ เลยเปลี่ยนแผนไปวันเบญจมบพิตรก่อนดีกว่า ห่างจากลานพระรูปไปอีกเล็กน้อย แต่วันร้อนๆแบบนี้ 500 เมตรก็ถือว่าไกลมากแล้ว

ระหว่างทางก็พบกับมหกรรมถ่ายรูปรับปริญญา ที่มาทราบภายหลังว่าวันนี้มีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันราชภัฎวลัยลงกรณ์ที่สวนอัมพร บริเวณโดยรอบจึงมีแต่บัณฑิตและญาติๆ ที่มาจากทั่วทุกสารทิศไทย รถติดทั่วบริเวณ เดินนั่นแหละเหมาะที่สุดแล้ว

ทนร้อนไปซักหน่อยก็ถึงวัดเบญจมบพิตร ที่ดูแล้ววันนี้นักท่องเที่ยวจะน้อยลงไปหน่อย อาจเป็นเพราะอากาศที่ร้อนเกินเหตุ จะมีก็แต่บัณฑิตเดินมาถ่ายรูปกัน

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เดิมชื่อ วัดแหลม หรือ วัดไทรทอง ภายหลังได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใหม่ว่า วัดเบญจบพิตร ซึ่งหมายถึง วัดของเจ้านาย 5 พระองค์ที่ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างสวนดุสิตขึ้นพระองค์ทรงทำผาติกรรมสถาปนาวัดขึ้นใหม่และพระราชทานามว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 พระอุโบสถ ที่มีสถาปัตยกรรมงดงามมาก และใช้หินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์ในการก่อสร้าง ส่วนพระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธชินราชจำลอง

( พระพุทธชินราชจำลอง ในอุโบสถวัดเบญจมบพิตร )

( พระพุทธรูปปางต่างๆโดยรอบพระอุโบสถวันเบญจมบพิตร )

ออกมาหารถแท็กซี่นั่งเพื่อจะไปพระที่นั่งวิมานเมฆ แต่ก็เป็นวันของแท็กซี่เค้าล่ะครับวันนี้ มีงานรับปริญญาแบบนี้ เป็นที่ของคุณพี่โชเฟอร์เลือกผู้โดยสารตามใจชอบ ระยะสั้นรถติดๆแบบผมเรียก ไม่ได้รับประทานเค้าล่ะครับ สุดท้ายต้องซ้อนวินมอเตอร์ไซด์ให้แดดเผาหัวเล่น เสียไปอีก 30 บาท

ถึงพระที่นั่งวิมานเมฆ จะบ่ายสี่โมงแล้ว แต่แดดก็ไม่มีทีท่าว่าจะแผ่วแต่อย่างใด เช่นเดิมก็คือราวกับว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างไว้ให้ชาวต่างชาติโดยเฉพาะ แต่ที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นกรุ๊ปทัวร์มาลงเป็นคันรถบัส เท่าที่สังเกตเห็นส่วนใหญ่จะเป็นคนจีนครับ คนจีนเยอะกว่าฝรั่ง น่าจะแนวๆนี้ เพราะส่วนใหญ่ฝรั่งจะชอบเที่ยวเองไม่มาเป็นคันรถใหญ่แบบนี้

พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นพระที่นั่งถาวรองค์แรกในพระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพระราชวังดุสิต เป็นอาคารแบบวิตอเรีย ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุโรป ผสมกับไทยประยุกต์ องค์พระที่นั่งเป็นรูปอักษรตัวแอล (L) ในภาษาอังกฤษ ยาวด้านละ 60 เมตร สูง 20 เมตร เป็นอาคาร 3 ชั้น ยกเว้นตรงส่วนที่ประทับซึ่งมีรูปร่างเป็นแปดเหลี่ยม มี 4 ชั้น ชั้นล่างสุดก่ออิฐ ถือปูน ชั้นถัดขึ้นไปสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหมดทาด้วยสีครีมอ่อนหลังคาสีแดง และหลังคาเป็นทรงไทยประยุกต์ มีลวดลายตามหน้าต่าง และช่องลมซึ่งฉลุเป็นลายที่เรียกว่าขนมปังขิง

ไปถึงเกือบสี่โมงก็เลยอดสิครับ เลยเวลาขายตั๋วเข้าชมภายในพระที่นั่งแล้ว แต่ยังให้เข้าไปถ่ายรูปรอบนอกพระที่นั่งได้ ก็เลยได้ภาพมาเพียงเท่านี้ แต่ได้ภาพถูกใจที่สุดครับ น้องหมวยคนนี้น่ารักถูกใจจริงๆ หว่อไอ้หนี่ หนี่โหย่วหนานเผิงโหย่วมะ

ออกจากพระที่นั่งวิมานเมฆเดินลัดเลาะไปตามที่ป้ายบอกไว้ ก็เพิ่งรู้ว่าเชื่อมกับพระที่นั่งอนันตสมาคมได้ ( รู้สึกตัวแล้วว่าเป็นคนไทยแท้ๆ กลับรู้น้อยจริงๆ อายนักท่องเที่ยวเค้ามั้ยเนี่ย ) ต้องผ่านพระที่นั่งอภิเศกดุสิตเสียก่อน

พระที่นั่งอภิเศกดุสิต เป็นพระที่นั่งองค์แรกๆ ที่สร้างขึ้นในเขตพระราชวังดุสิต เป็นพระที่นั่งชั้นเดียว ประดับไปด้วยสร้างด้วยไม้เป็นส่วนมาก มีลวดลายฉลุไม้เรียกว่า ลายบุหงา มีการประดับกระจกสี และลวดลายปูนปั้นที่หน้าบัน เป็นศิลปะแบบมัวร์ จึงทำให้พระที่นั่งองค์นี้งดงามมาก พระที่นั่งองค์นี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกของพระที่นั่งวิมานเมฆ สร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากพระองค์ได้เสด็จกลับมาจากการประพาสยุโรปครั้งที่ 1 เพื่อใช้เป็นท้องพระโรง และสถานที่พระราชทานเลี้ยง สำหรับพระราชวังดุสิต และใช้เป็นสถานที่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ ในงานประจำปีสวนดุสิต

และแล้วก็ถึงพระที่นั่งอนันตสมาคมที่คนไทยน่าจะคุ้นเคยที่สุด รองจากพระบรมมหาราชวัง ด้วยว่าเป็นพระที่นั่งที่มีสถาปัตยกรรมโดดเด่น และที่ตั้งที่ลานด้านหน้านั้นใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญและกิจกรรมสำคัญๆของเมืองไทย ที่คนไทยเราน่าจะจดจำได้แม่นยำที่สุดก็คืองานเฉลิมพระชนมพรรษาพ่อหลวงของเราในปีที่ผ่านมานี้ ที่ได้มีการฉายภาพยนตร์แห่งความปลื้มปิติต่อพระองค์ท่านโดยใช้พระที่นั่งแห่งนี้เป็นฉากหลัง วันนี้ได้มาเห็นใกล้ๆครั้งแรกในชีวิตครับ

พระที่นั่งอนันตมหาสมาคมมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนีโอเรอเนสซองส์ (Neo Renaissance) และนีโอคลาสสิก (Neo classic)[2] โดยตกแต่งพระที่นั่งด้วยหินอ่อน ซึ่งสั่งมาจากเมืองคารารา ประเทศอิตาลี โดยมีจุดเด่น คือ มีหลังคาโดมคลาสสิกของโรมอยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็กๆโดยรอบอีก 6 โดม รวมทั้งสิ้นมี 7 โดม ออกแบบโดยมาริโอ ตามานโญ โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าได้เสด็จสวรรคตก่อนที่พระที่นั่งจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ดำเนินการก่อสร้างพระที่นั่งต่อไปจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2458 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี ใช้งบประมาณประมาณ 15 ล้านบาท

พระที่นั่งองค์นี้ จัดได้ว่า เป็นรัฐสภาแห่งแรกของประเทศไทย เพราะว่า ในช่วงที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้ใช้พระที่นั่งองค์นี้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ ณ รัฐสภาปัจจุบัน ซึ่งอยู่ข้างๆพระที่นั่งองค์นี้ รวมทั้งยังเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี รัฐพิธี สำคัญๆมากมาย อาทิ รัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ

ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 เวลา 10.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมหาสมาคมและรับการถวายพระพรชัยมงคล ณ สีหบัญชรพระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

ร้อนๆๆๆ ไม่ไหวแล้วครับต้องหลบมาพักในสวนสัตว์เขาดิน กินไก่ย่างกับเป็บซี่ สุขชีวีเหนือคำบรรยายครับ ไก่ย่างหน้าเขาดิน รสชาติมันดีอย่างนี้นี่เอง ไม่ได้กินไก่ย่างหอมๆ แบบบ้านๆ มานานแล้ว ริมสระน้ำในเขาดินยามบ่ายๆเย็นๆแบบนี้ จะมีครอบครัวพาลูกพาหลานมานั่งปิคนิคริมสระน้ำกันเยอะพอสมควร จัดการไก่ย่างไปเรียบร้อย นั่งพอให้หายเมื่อยล้า ก็เดินทางต่อ ผมนั่งสามล้อกลับไปยังท่าเรือเทเวศน์อีกครั้ง เพื่อนั่งเรือต่อไปยังท่าเรือวังหลัง( ศิริราช )

บรรยากาศที่ท่าเรือพอดีกับบรรดาพนักงานและข้าราชการเลิกงานพอดี จึงเต็มไปด้วยผู้คนที่กำลังจะเดินทางกลับบ้าน จะว่าลำบากก็คงลำบากอยู่สำหรับคนที่มีชีวิตอย่างสุขสบายมีรถส่วนตัวเปิดแอร์เย็นฉ่ำจะทุกข์อยู่บ้างก็คงเป็นรถติด แต่เดี๋ยวนี้ก็มีทีวีติดรถยนต์ให้ดูกันแก้เซ็งกันแล้ว ส่วนคนเดินดินธรรมดา ก็ต้องรับวิถีชีวิตแบบนี้กันไป และดูเหมือนว่าพวกเค้าก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรกันนัก ผมเห็นหญิงทำงานกลุ่มหนึ่งกำลังโยนขนมปังให้ปลากินอย่างสบายใจ

การให้อาหารปลาริมท่าน้ำเทเวศน์นี้น่าจะเป็นกิจกรรมหลักที่ทำกันมาก สังเกตจากที่มีร้านขายขนมปังสำหรับให้ปลากินอยู่หลายร้าน ตอนแรกผมเดินมาเห็นแบ่งเป็นถุงเล็กๆ จะหลงซื้อกินเองเข้าแล้ว แต่มองไปมองมา มันไม่น่าให้คนกินนะแบบนี้

ถึงท่าเรือศิริราช ตั้งใจว่าจะเดินชมตลาด หาของอร่อยๆกินซักหน่อย จริงๆตอนเรียนก็คุ้นเคยกับการข้ามเรือนะครับ แต่นั่นเป็นที่สี่พระยา คลองสาน ท่าศิริราชก็มีผ่านมาบ้าง แต่ไม่เคยตั้งใจมาเดินขนาดนี้ คนเยอะแยะมากมายครับ ร้านก็เยอะ คนก็เยอะ ร้านอาหารหลายๆร้านโดยเฉพาะแนวริมถนนข้างโรงพยาบาล คนเยอะจนไม่มีที่นั่ง แอบอิจฉาคนขายเหมือนกันท่าทางนับเงินไม่ทัน แต่ก็เข้าใจว่าก็เหนื่อยอยู่ หน้าร้อนก็ร้อนสุดขีด เดี๋ยวเข้าหน้าฝนคงลำบากไปอีกแบบ ชีวิตคนทำมาหากินก็แบบนี้

สุดท้ายหาที่นั่งกินไม่ได้ ร้านคนเยอะๆก็แปลว่าอร่อยๆ ก็ไม่มีที่นั่ง ร้านคนน้อยๆก็เกรงว่าจะไม่อร่อยอีก สุดท้ายได้แค่ขนมปัง ( คนกิน ) กลับบ้าน กลับแล้วครับ เหนื่อยมาก ไม่คิดว่าเที่ยวในกรุงแค่นี้จะเหนื่อยและเมื่อยได้เพียงนี้ เพราะแดดตัวเดียวแท้ๆ คิดได้คำตอบหนึ่งแล้วว่า ทำไมคนไทยถึงไม่ค่อยมาเที่ยวแบบนี้ เพราะมันร้อนแทบขาดใจนั่นเอง

ลาแล้วครับวันนี้ ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ ข้อมูลเกี่ยวกับวัดและพระที่นั่งทั้งหมดมาจากวิกิพีเดีย ขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ครับ









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น