วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ดิบๆที่ลาวเหนือ 2 ... จำไว้เลย ดาวฟ้าหลวงพระบาง

ตั้งใจไว้แล้วตั้งแต่เมื่อคืนว่าจะตื่นขึ้นมา ดูพระอาทิตย์ขึ้นจากริมฝั่งโขง แต่ฝนเจ้ากรรมดันตกตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง เลยเวลามาจนเกือบเจ็ดโมงเช้า พระอาทิตย์ขึ้นคงไม่ได้เห็นแล้ว แต่ยังอยากเห็นภาพชีวิตคนเมืองปากแบง ที่ยังคงความเป็นชนบทแท้ๆ แม้รายทางจะมีเฮือนพัก ร้านอาหาร เรียงรายไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังคงวิถีชีวิตแบบเดิมๆ ไว้

( ภาพริมฝั่งโขงยามเช้า บรรยากาศเหนือคำบรรยาย )

ผมเดินเก็บภาพผู้คน และทิวทัศน์ จนได้เจอตำแหน่งเหมาะๆ เป็นเพิงเล็กๆ ยื่นออกไปจากเนินเขาเล็กๆ เบื้องหน้าของผมเป็นจุดที่แม่น้ำโขงแผ่กว้างจนดูคล้ายเป็นทะเลสาบ มีเขาขนาดย่อมๆขนาบไว้สองข้าง เบื้องบนเป็นสายหมอกขาวๆ ที่ดูแล้วเหมือนจะลอยลงต่ำมาเรื่อยๆจนแทบจะเอามือคว้าไว้ได้

( กาแฟลาวร้อนๆ ในร้านกาแฟริมน้ำ )

อิ่มกับบรรยากาศที่ยากจะบรรยายแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะหาอะไรให้ท้องอิ่ม ผมกลับไปปลุกเพื่อนที่ที่พักอีกครั้ง แล้วออกมาชิมอาหารแนวอาหารเช้าฝรั่ง ร้านตั้งอยู่ริมน้ำ บรรยากาศดีๆแบบนี้ กับ อเมริกันเบรคฟาสต์ กาแฟลาว ตบด้วยพิซซ่าปลาทูน่า และกล้วยปั่น แทบไม่อยากลุกไปไหนอีกเลย

( ตามด้วยพิซซ่าปลาทูน่า อาหารฝรั่งฝีมือคนลาว อร่อยอย่าบอกใคร )

9 โมง กว่าๆ ได้เวลาที่เรือจะออกจากท่าอีกครั้ง เพื่อมุ่งตรงไปจุดหมายคือหลวงพระบาง เรือวันนี้เป็นคนละลำกับเมื่อวาน เล็กกว่าเมื่อวานหลาย กว่าผมจะเดินขึ้นมาบนเรือที่นั่งปกติก็ถูกฝรั่งจับจองเต็มหมดแล้ว ตาเหลือบไปเห็นท้ายเรือที่เป็นส่วนพักผ่อนของคนเรือ และห้องเครื่อง เห็นเพื่อนคนไทยที่เจอเมื่อวานนี้ ที่เราคิดว่าคงจะแยกทางกันไปแล้ว แต่ไหนวันนี้ดันมาลงเรือลำเดียวกันอีกจนได้

ยังไม่ทันได้ถามไถ่ เบียร์ลาวแก้วแรก ก็ถูกยื่นใส่มือเข้าให้ จากนั้นก็ได้ความว่า เพื่อนใหม่กลุ่มนี้ เปลี่ยนใจ มาลงเรือต่อไปหลวงพระบางเหมือนพวกเราแล้ว ได้เรื่องล่ะครับ วันที่สองย่อมสนิทกว่าวันแรกสองเท่าเช่นกัน ฟ้าลิขิตให้เราและเพื่อนใหม่กลุ่มนี้ต้องมาใช้ชิวิตตะลุยลาวด้วยกันแบบนี้ มันต้องฉลองครับ เผลอแป๊บเดียวก็ได้ภาพอย่างที่เห็น

( เบยลาวรอไว้แล้วตั้งแต่ขึ้นเรือ ศีลแตกก็วันนี้ )

คนเยอะจนแน่น แถมเรือวันนี้ยังนั่งตามกาบเรือไม่ถนัดเหมือนเมื่อวานอีก ผมต้องกระเด็นมาอยู่ท้ายสุดของเรือ ที่เป็นส่วนของห้องครัว สำรวจห้องครัวคนเรือแล้ว ข้าวของส่วนใหญ่ก็น่าจะซื้อมาจากฝั่งไทยทั้งนั้น ไม่แปลกที่คนลาวชอบใช้เงินไทยจนรัฐต้องออกมารณรงค์ให้ใช้เงินลาว เพราะได้เงินไทยมาข้ามมาซื้อของไทย ไม่ต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาให้ยุ่งยาก แต่เรื่องแบบนี้ทางผู้ปกครองก็คงอยากให้คนชาตินิยมกันบ้าง

( เบื้องหน้าผมบนเรือวันที่สอง คนแน่นจนต้องกระเด็นมาอยู่ท้ายเรือ )

มองไปมองมาผมสังเกตเห็นกล่องกระดาษกล่องหนึ่ง ปิดไว้แต่เจาะรูไว้ด้านบน ขยับไปมาได้ เหมือนมีตัวอะไรอยู่ข้างใน เลยถามคนลาวที่นั่นอยู่ข้างๆกัน ก็เลยรู้ว่า ข้างในเป็นไก่ชนของเค้าเอง มีในกล่องถึง 2 ตัว ผมดูแล้วยังไงก็ไม่น่าจะยัดเข้าไปได้ คงจะอึดอัดน่าดู แต่เจ้าของก็บอกเองว่าไม่เป็นไร ไก่พวกนี้แข็งแรงอยู่แล้ว และถ้าโชคดีเลี้ยงจนตีเก่ง ชนชนะสักครั้ง ก็ได้เงินนับหมื่นบาท สนามก็อยู่ที่หลวงพระบางที่ที่เราจะไปนั่นเอง

( ด้านหน้าเรือเป็นที่ของฝรั่งไป ด้านหลังเรือก็เป็นพี่ไทยกะน้องลาวกันไป )

ไถ่ถามเรื่องไก่เลยไปจนถึงเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ของคนลาว รวมไปถึงการอ่านภาษาลาวอย่างง่าย หนุ่มคนนี้เรียกได้ว่ามีความรู้ดีคนหนึ่ง เพราะด้วยว่าทำงานอยู่หน่วยการศึกษานอกโรงเรียนที่หลวงพระบาง มาปากแบงเป็นประจำเพราะต้องมาหาคู่หมั้นที่ทำงานอยู่ที่นั่น และมีแผนที่จะแต่งงานกันปีหน้านี้แล้ว

( โขงชิลๆ วันที่สอง บรรยากาสครึ้มฝนส่งท้ายปลายฝนต้นหนาว )

เรื่องของคนลาวกับคนไทยนั้น นอกจากคนลาวจะใช้เงินไทย ฟังภาษาไทยรู้เรื่องเกือบหมดเพราะดูทีวีไทย ละครไทย ข่าวไทย ฟังเพลงไทย รวมไปถึงเกาหลี อย่างที่คนไทยนิยมกัน ดูเคเบิ้ลทีวีที่รับทรูวิชั่นได้ทุกช่องแบบไม่ต้องกลัวฝนตก ผมได้ลองถามเรื่องลึกๆอย่างเช่นอยากให้ลาวเจริญเหมือนไทยไหม อยากมีห้าง มีโรงหนัง มีความเจริญทางวัตถุที่ได้เห็นในทีวีบ้างไหม คำตอบพร้อมรอยยิ้มบนใบหน้า มันสะท้อนให้เห็นว่าเค้าก็อยากจะมีเหมือนอย่างเรา แม้จะรู้ดีอีกเช่นกันว่าสิ่งเหล่านี้อาจสวนทางกับความเจริญทางจิตใจ และนี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมต้องข้ามฝั่งโขง มาสัมผัสความบริสุทธิทั้งจากธรรมชาติ และจิตใจของผู้คนแบบนี้

ตลอดการเดินทางบนเรือวันที่สองนี้ ความเป็นกันเองมีมากขึ้นจากเมื่อวาน ทั้งไทย ลาว ฝรั่ง ต่างพูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างก็เฮฮากันไป ใกล้ถึงเวลาที่ตะวันจะตกดินอีกครั้ง เรือก็เข้าจอดที่ท่าหลวงพระบาง ผมและเพื่อน พร้อมทั้งเพื่อนใหม่ รวม 6 คน ตกลงที่จะพักที่เดียวกัน หลังจากได้รับการเสนอราคาจากตัวแทนที่พักตั้งแต่ขึ้นฝั่ง ในราคาเพียง 240 บาทต่อคือ ห้องน้ำในตัว แต่ดูจากแผนที่แล้วคงต้องเดินกันอีกไกล พวกเราตัดสินใจเดินกันไป เพราะจะได้ดูที่พักตามทางด้วย เผื่อจะมีที่ไหนที่เด็ดกว่า

แต่จนแล้วจนเล่า ผ่านที่พักสวยๆ บริเวณใกล้ถนนคนเดินก็แพงนักหนา ยิ่งเดินออกมาไกลจากถนนคนเดิน หลวงพระบางยามค่ำคืนก็ยังคงเหมือนต่างจังหวัดของไทยทั่วไปที่ไร้แสงสี ยิ่งเดินไกลใจก็เริ่มหวั่น เกือบจะยอมพักที่แพงกว่าอยู่อีกหลายครั้ง แต่ก่อนจะหมดแรง ก็เห็นป้ายอยู่ไกลๆ นั่นไงเจอแล้ว เฮือนพักมะนิวัน ไกลที่สุดในบรรดาเฮือนพักแล้วล่ะมั้ง

( ที่ตลาดมืดมีบูทจัดวางอย่างดีคอยรับนักท่องเที่ยว ตอนเช้าที่นี่จะเป็นถนนสายหลักของเมือง

รวมทั้งเป็นจุดหลักที่พระจะมาบิณฑบาตร )

ไม่อาจเปลี่ยนใจได้แล้ว เดินมาไกลขนาดนี้ เจ้าของรีบตรงมาต้อนรับ สถานที่ยังดูใหม่เหมือนเพิ่งเปิดไม่นานนัก เราทั้งหกแยกย้ายกันไปเก็บข้าวของ พร้อมกับนัดกันว่าจะออกมากินข้าวด้วยกัน แล้วค่อยไปเดินตลาดมืดที่ถนนคนเดิน

ว่ากันที่ถนนคนเดิน ก่อนหน้านี้ผมได้ดูรายการท่องเที่ยวทางทีวีมาบ้าง นึกภาพไปได้อย่างหนึ่ง คือน่าจะคล้ายไปทางถนนคนเดินที่ปาย หรือเชียงใหม่ แต่พอมาเดินเข้าจริง ผมว่าเสน่ห์บางอย่างมันขาดหายไป ของที่ขายแม้จะมีจำนวนร้านมากมาย มีเต้นท์สวยๆใหม่กางไว้อย่างงานออกบูท แต่สินค้ากลับไม่หลากหลาย ผ้าสิ้นผ้าไหม แล้วก็กระเป๋าผ้า ดูเหมือนกันแทบทุกร้าน

( เสื้อที่ระลึกแบบนี้ กลายเป็นของสำคัญที่ขาดไม่ได้ )

และที่ขาดไม่ได้ก็คงเป็นเสื้อสะบายดี เสื้อเบยลาว ที่ผมไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไรมากนัก และที่อยากให้มีเยอะๆกลับไม่เยอะนั่นคืออาหารการกินแบบลาวแท้ๆ ถูกจัดไปรวมอยู่ในซอยเล็กทางเข้าถนนคนเดิน ซอยเล็กๆซอยนี้จึงอัดแน่น ไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งไทยทั้งฝรั่งมีมากพอๆกัน ผมว่าส่วนใหญ่ก็คงชอบเรื่องอาหารการกินแบบผมนี่แหละ ถ้าทางลาวมาเห็นความรู้สึกที่ผมเขียนอยู่นี้ก็ขอว่าอยากให้มีอาหารขายมากๆ เชื่อว่านักท่องเที่ยวที่ไหนก็ชอบครับ

( กาแฟลาว ปลูกในลาวแต่ไปคั่วบดเมืองนอก )

ที่เขียนมาอาจเป็นความรู้สึกส่วนตัวผมแค่นั้น ใครที่ไปมาแล้วคิดเห็นอย่างไรก็บอกกันได้ครับ ใครที่ยังไม่ไป ก็ต้องลองไปดูครับ อย่าเพิ่งเชื่อจากความรู้สึกผมคนเดียว แต่ทั้งหกคนที่ร่วมทางกับผมก็เหมือนจะใจตรงกัน เดินตลาดมืดวนไปมาได้ซักสองรอบก็เริ่มอยากจะเคลื่อนย้ายกันแล้ว และว่าค่อยมาซื้อตอนคืนวันก่อนกลับดีกว่า

ก่อนออกมา เราได้รับคำแนะนำว่า สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบความบันเทิงยามค่ำคืนแล้ว ต้องไปที่ " เมืองซัว " เป็นที่เต้นรำของคนลาว ซึ่งผมเองก็เคยเห็นรายการไทยมาถ่ายทำอยู่บ้างก็อยากมาสัมผัสของจริงที่นี่ คนลาวเต้นนับสิบๆคนบนฟอร์เต้นได้พร้อมเพรียงกันจริงหรือเปล่า ส่วนอีกที่เป็นที่สำหรับหนุ่มๆ ที่ห้ามพลาด นั่นคือผับดับอันดับหนึ่งของหลวงพระบางที่ชื่อว่า " ดาวฟ้า " แหม ... ฟังชื่อก็อยากเข้าไปดูให้เห็นกับตาแล้วครับ

( บั๊กเก็ตอีกแล้ว อยากกินอาหารลาวแท้ๆมากกว่านี้ )

แต่ต้องขอบอกไว้หน่อยสำหรับผู้ที่เป็นห่วงว่า มรดกโลกทางวัฒนธรรมอย่างหลวงพระบางนี้ มีสถานที่แบบนี้ด้วยหรือ จากคำบอกเล่าของเจ้าของเฮือนพัก บอกว่า ผับเหล่านี้อยู่นอกเขตมรดกไปแล้ว ส่วนที่อยู่ในเขตมรดกนั้น แม้แต่จะดัดแปลงบ้านยังต้องขออนุญาตก่อนเลย ฟังดังนี้แล้วผมก็เบาใจ เพราะอยากให้ที่ที่สงบทั้งธรรมชาติและทางใจนี้อยู่คู่เมืองลาวตลอดไป แม้จะไม่ใช้คนลาวก็เถอะ

หลังจากตกลงกับสามล้อสกายแล็บเรียบร้อยแล้ว พี่สามล้อเสนอพวกเราว่าจะพาไปเที่ยวทั้งเมืองซัว จอดรอ และจะพาไปต่อที่ดาวฟ้า จนรอรับกลับที่พัก สนนราคา 400 บาท ให้ใจกันแบบนี้มีหรือจะปฎิเสธ พวกเราโดดขึ้นท้ายรถ แล้วเบยลาวร่วมสาบานก็ถูกวนรอบ สมานมิตรใหม่ให้เข้ากันยิ่งขึ้นไปอีก

( ผ้าสิ้นที่นี่ ดูคล้ายกันไปหมด คงเป็นเพราะผมดูไม่ออกเองซะมากกว่า )

มาถึงที่เมืองซัว ก็อึ้งไปพักหนึ่ง คือน่าจะยังเช้าอยู่ เรามาก่อนนักดนตรีด้วยซ้ำ ภายในร้านเหมือนคาเฟ่เก่าๆ เก้าอี้โซฟาสีดำสูงๆ ไฟสลัวๆ เหมือนมาเที่ยวย้อนยุคไปเมื่อ 30 ปีก่อน อึ้งไปก็เสียเวลาเปล่า คืนนี้เรามาเพื่อสัมผัสว่าคนลาวมีความบันเทิงอย่างไรไม่ใช่หรือ เบยลาวอีก 6 ขวดจึงประเคนแจกจ่ายลงแก้ว

สักครึ่งชั่วโมงต่อมา นักดนตรีเริ่มบรรเลง นักร้องสาวลาวขึ้นร้องขับกล่อม เพลงแรกยังดูนิ่งๆ แต่เมื่อเพลงสองเพลงสามตามมาเริ่มมีผู้กล้ามาเปิดฟลอร์ เท่านั้นแหละ ทั้งหนุ่ม ทั้งสาว ทั้งผุ้ใหญ่ ทั้งผู้อาวุโส ก็ลุกจากโต๊ะ มาที่กลางฟลอร์ เต้นอย่างพร้อมเพรียงกัน อะเมซิ่งจริงๆครับ พวกเราอดรนทนไม่ได้แล้ว บรรยากาสแล้วจะไม่เร้าร้อนอย่างอาร์ซีเอ แต่ดนตรีวอลซ์ ร็อคแอนด์โรล แทงโก้ โบราณๆ ก็ทำให้สถานที่นี้ดูสนุกสนานครื้นเครงได้ อันนี้ผมขอการันตีครับ หากใครได้ไปลาวก็อย่างพลาดสถานบันเทิงแนวนี้

( ซอยนี้ขายอาหารล้วนๆ คนแน่นเป็นพิเศษ )

เต้นไปเต้นมาได้เหงื่อหลายทีเดียว สนุกแบบคาดไม่ถึงจริงๆ แต่ก็ได้เวลาที่เราจะเคลื่อนย้ายอีกครั้ง เพราะเป้าหมายของหนุ่มๆรออยู่นั่นคือผับ ดาวฟ้า ถ้ามีแค่ผมกับเพื่อนสองคนคงไม่คึกได้ขนาดนี้ แต่เพราะได้เจอคอเดียวกัน รวมเป็น 6 มันก็คึกคะนองได้อย่างกับย้อนเวลาไปเป็นวัยรุ่นยี่สิบต้นๆอีกครั้ง

เบื้องแรกที่ได้เห็นดาวฟ้า ผมนึกถึงผับตามหัวเมืองต่างจังหวัดบ้านเรา โต๊ะทำจากถังลายเบยลาว ผมรู้สึกว่าที่ลาวนี่ จะไปทางไหนก็หนีเบยลาวไม่พ้นจริงๆ คนไม่มากนักอาจเป็นเพราะเป็นคืนวันอังคาร สายตาพวกเราสอดส่ายบรรยากาสและคนที่มาเที่ยว เราก็เริ่มสังเกตเห็นกลุ่มสาวๆ ที่เจ้าของเฮือนพักของเราบอกเอาไว้ อยู่หลายโต๊ะ ดูจากการแต่งตัวแล้ว ไม่น่าพลาดครับ ต้องใช่แน่ๆ

( บรรยากาศสบายๆ สไตล์ถนนคนเดิน )

ความคึกคะนองของหนุ่มทั้งหก ก็แซวกันมาตั้งแต่อยู่บนรถแล้วว่า มาหลวงพระบางต้องให้ถึงหลวงพระบางนะ ผมเองต้องออกตัวตรงนี้ว่า ไม่ได้มีเรื่องนี้อยู่ในหัวตั้งแต่ก่อนมาเลย ไม่ได้เตรียมตัวอะไรมาทั้งสิ้น แม้แต่ในค่ำคืนในผับดาวฟ้าที่เราอยู่กันตอนนั้น ผมก็ยังไม่ได้อาบน้ำมาตั้งแต่คืนวาน สภาพก็แย่อยู่ เพราะนั่งเรือมาทั้งวัน แถมชุดที่ใส่ก็เป็นชุดเก่าที่สุดในตู้ ที่กะว่าใส่เสร็จแล้วก็จะทิ้งไว้ที่หลวงพระบางเลย สภาพแย่มาก ไม่เหมาะกับเรื่องอย่างว่าด้วยประการทั้งปวง

แต่เรื่องบังเอิญมันก็เกิดขึ้นจนได้ โต๊ะข้างๆกันก็เป็นสาวลาว ซึ่งผมเองก็ไม่กล้าฟันธงว่าเธอทำอาชีพอะไร เพราะไม่ได้ถาม แต่ว่าเราก็ได้คุยเรื่องโน้นเรื่องนี้กัน ก็กะไว้แค่นั้น จริงๆนะครับ ... สาบานนน

คุยไปคุยมา บวกกับฤทธิ์เบยลาว ความสนุกคละเคล้ากับเสียงเพลง กลายเป็นว่า ผมกับน้องเค้ากลับมาที่เฮือนพักได้ไงกันล่ะเนี่ย เอาไงล่ะทีนี้ แล้วพรุ่งนี้จะต้องตื่นไปใส่บาตรเช้าอีก

เอาไง เอาไง เอาบ่ดี เอาดีบ่ แล้วเสียงก็ค่อยๆเงียบไปหลังปิดประตูห้อง

จำไว้เลย ดาวฟ้า หลวงพระบาง

ดิบๆ ที่ลาวเหนือ 1 ... สะบายดีปากแบง

ได้ยินชื่อเสียงของหลวงพระบางมาเนิ่นนานแล้ว ความเป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่ชาวลาวภาคภูมิใจ ความเป็นเมืองที่ได้ชื่อว่ายังมีวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการใส่บาตรข้าวเหนียว ที่ถือเป็นภาพจำของเมืองนี้ก็ว่าได้

( ริมน้ำโขงฝั่งลาว ที่ห้วยทราย กับเรือที่เราจะล่องกันในวันนี้ )

หลังจากที่นัดแนะกับเพื่อนซี้ร่วมเดินทางกันแล้ว ว่าเราจะเดินทางไปหลวงพระบางด้วยเส้นทางที่โหดพอตัวด้วยเส้นทางเรือล่องแม่น้ำโขงจากด่านเชียงของ จ. เชียงราย แว๊บแรกคิดจะไปด้วยเครื่องบินเหมือนกัน แต่ดูราคาตั๋วแล้วขอบายดีกว่า และจริงๆแล้ว การใช้เวลาสัมผัสกับการเดินทางแบบนี้ก็ สำคัญไม่แพ้การสัมผัสเมืองหลวงพระบางอันเป็นจุดหมายปลายทาง

( บรรยากาศ สองข้างทาง บนเรือ บอกสั้นๆคำเดียวครับ สุดยอดดดด )

เรานัดกันที่ขนส่งหมอชิต ในค่ำวันอาทิตย์เพื่อที่จะขึ้นรถไป อ.เชียงของ ใช้เวลาข้ามคืนเกือบ 12 ชั่วโมงเต็ม เราก็มาถึงตัวเมือง ที่ดูแล้วก็ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวย่อมได้อยู่เหมือนกัน ส่วนหนึ่งก็คงทำไว้รองรับผู้ที่จะเดินทางล่องน้ำโขงอย่างพวกผมนี้ แต่ด้วยเวลาอันจำกัด จึงต้องขอผ่านเชียงของไปก่อน โอกาสหน้าคงได้มีเวลามาสัมผัสกับเมืองนี้นานๆ

( บั๊กเก๊ต หรือข้าวจี่ อาหารที่พบได้บ่อยกว่าส้มตำลาว มากพอๆกับเฝอ )

นั่งสามล้อไปยังจุดผ่านแดน ถ้ามีพาสปอร์ตก็ไม่ต้องห่วงอะไร ผ่านสะดวกใช้เวลาไม่นานนัก จากฝั่งไทยนั่งเรือข้ามฟากไป จุดผ่านแดนฝั่งลาวที่ห้วยทราย จัดการแลกเงินกีบติดตัวไว้คนละ 2 พันบาท จริงๆแล้ว หากใครขี้เกียจปวดหัวกับหน่วยอันมหาศาลจะไม่แลกเลยก็ได้ เพราะคนลาวรับเงินไทยทั่วประเทศ แต่มักจะโดนอัตรา 1 บาท ต่อ 250 กีบ แทนที่จะได้ 1 บาท ต่อ 268 กีบ อย่างที่เราแลกได้วันนี้

( พลบค่ำที่ปากแบง เราขึ้นมาหาที่พักก่อนนั่งเรือต่ออีกครึ่งทางในวันพรุ่งนี้ )

ที่ฝั่งลาวนี้ เราจะเห็นตัวแทนทัวร์อยู่หลายแห่ง เส้นทางล่องน้ำโขงไปหลวงพระบาง ที่ขายกันมักจะถูกบวกกำไรไปหนึ่งทอดแล้ว ที่คนละประมาณ 900 บาท แต่ถ้านั่งรถต่อไปอีกหน่อยไปซื้อที่ท่าเรือโดยตรงเลย ก็จะได้ที่ราคา 2 แสนกีบ คิดแล้วก็ประมาณ 750 บาท ประหยัดไปได้หลาย

( ลาบแบบลาว ผักสมุนไพรเยอะกว่าของเรา แถมใส่ถั่วงอกด้วย ที่ร้านปิ่นคำ )

อาหารแถวท่าเรือนี้ไม่มีให้เลือกนัก ซึ่งก็น่าเสียดายโอกาสแทนคนลาวอยู่ น่าจะมีคนทำอาหารมาขายนักท่องเที่ยวมากกว่านี้ เพราะแค่นักท่องเที่ยวที่ไปเรือลำเดียวกับผม ก็น่าจะเกือบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่ก็ต้องกินแบบเดียวกันหมด คือเจ้าขนมปังบักเก็ต หรือที่คนลาวเรียก ข้าวจี่ ซึ่งมื้อแรกก็น่าตื่นเต้นดี แต่มื้อต่อไปกินบ่อยๆ ไม่เวิร์คครับ

ก่อนไปก็ทำใจไว้แล้วว่า เรือออกช้ากว่าเวลาแน่ๆ แต่ไม่รู้ว่าจะช้าได้ขนาดนี้ แถมยังอัดนักท่องเที่ยวจนแทบล้นลำ ตอนนี้อยู่กรุงเทพแล้วก็บ่นกันไปครับ ตอนอยู่นั่นก็สะใจคนฮาร์ดคอร์อย่างผมดีเหมือนกัน ตอนเรือจอดอยู่อากาศร้อนอบอ้าวครับ แต่พอเรือออกเดินทางแล้ว ต่อให้คนเยอะกว่านี้ก็ไม่อาจลดทอนบรรยากาศรอบตัวเราไปได้

( เฮือนพักดอนวิลล่าสัก เก่าๆ แต่ได้บรรยากาศ )

ทันทีที่เห็นภาพทิวทัศน์รอบตัวเรือ ทั้งลำน้ำโขงที่ไหลเรียบเอื่อยๆ ภูเขาสองข้างที่เขียวจัด โดยเฉพาะเมื่อผ่านส่วนพรมแดนไทย เป็นลาวทั้งสองฝั่งโขงแล้ว ผสมกับลมบริสุทธิที่พัดผ่านใบหน้า ผมยอมรับว่าบรรยายได้แค่นี้ ได้แค่เศษเสี้ยวของสิ่งที่เราได้สัมผัสจริงๆ นี่แหละครับ ธรรมชาติที่ไม่ต้องการการปรุงแต่งใดๆ เสพดิบๆได้แบบนี้

ผ่านชั่วโมงแล้ว ชั่วโมงเล่า จากเที่ยงที่ท่าห้วยทราย เรือจอดตามท่าต่างๆอยู่เป็นระยะเพื่อรับส่งชาวบ้าน และสิ่งของที่ขนมากับเรือ เล่าให้ใครฟังว่าต้องนั่งเรือสองวันกว่าจะถึงหลวงพระบาง อาจดูเหมือนโหด แต่มานั่งจริงๆแล้ว ใครที่ชอบความชิล ชอบธรรมชาติ ก็แทบจะไม่สนใจเวลาที่ผ่านไปเลย

( ยามเช้า สายหมอกลอยอยู่เหนือแม่น้ำโขง อากาศเย็นสบายดีแท้ )

พระอาทิตย์ จวนจะลับขุนเขา เราก็มาถึงกลางทาง จุดที่เราต้องแวะพักค้างคืน ก่อนที่จะขึ้นเรือไปต่อในตอนเช้า เมืองปากแบง ที่เราแวะพักนี้ เท่าที่ทราบมาก่อนหน้านี้ก็จะมีเพียงที่พักเล็กๆไม่กี่แห่งที่ส่วนใหญ่ก็จะดัดแปลงจากบ้านของชาวบ้าน แต่เมื่อเริ่มมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น ก็มีคนมาลงทุนทำที่พักขนาดใหญ่ ที่ผมเห็นล่าสุดนี้มีหรูขนาดรีสอร์ตสวยๆของไทยขึ้นมาแล้ว ราคาคืนละพันกว่าบาท สำหรับพวกผม ขอห้องละ 200 บาท น่าจะเหมาะกว่า

ค่ำคืนของที่นี้ไม่ได้มีสีสันอะไรมากนัก จะมีก็เพียงร้านอาหาร คอฟฟี่ช็อปเล็กๆ ผมได้รับคำแนะนำจากเจ้าของบ้านพักให้ไปทานอาหารกันที่ ร้านปิ่นคำ เชื่อไว้ก็ไม่ผิดหวังครับ เป็นร้านที่ทัวร์ไทยมาบ่อยๆ น่าจะเพราะรสชาติอาหารที่ถูกปากคนไทยอย่างเราๆ ราคาก็ไม่ต่างจากบ้านเรามากนัก รวมกับความหิวที่ตั้งแต่เช้ามีเพียงบั๊กเก็ตบิ๊กไซส์ เพียงหนึ่งชิ้นที่ลงท้อง นับเป็นมื้อแรกในลาวที่ได้ลิ้มรสมือชาวลาวแบบเต็มๆ

( เด็กนักเรียน กับพาหนะคู่ใจ จักรยานธรรมดาๆ ไม่มีเกียร์แต่ต้องปั่นขึ้นเขา )

ย้อนกลับไปที่เริ่มลงเรือสักหน่อย แว็บแรกที่เห็นเหมือนมาล่องแม่น้ำอะไรซักแห่งที่ยุโรป เพราะมองไปมีแต่ฝรั่งทั้งนั้น แย่ละสิครับ ภาษาอังกฤษก็ง่อยเปลี้ยซะเหลือเกิน แต่มองไปท้ายเรือก็เห็นคนกลุ่มเล็กๆ หน้าไทยๆ อย่างเรา ค่อยโล่งอกที่อย่างน้อยก็มีเพื่อนร่วมทางที่พอจะพูดคุยกันได้

ทันที่ที่ผมกับเพื่อน ได้คุยกับกลุ่มพี่ๆ ที่มากันอีก 4 คน ก็รู้สึกได้ว่า เจอคนที่ทางเดียวกันซะแล้ว มาอยู่ต่างแดน ( แม้จะไม่ได้ห่างบ้านเท่าไร ) เจอคนคอเดียวกัน วัยใกล้ๆกันแบบนี้ คุยกันได้เหมือนรู้จักกันมาสิบปี คุยกับกลุ่มพี่ๆ ได้ความว่า มาจากเชียงใหม่ มาล่องเรือแต่จะไปแค่ครึ่งทางของเรา นั่นคือที่ปากแบง และจะเปลี่ยนไปนั่งรถ ไปเที่ยวเมืองอื่นๆอีกก่อนจะไปหลวงพระบาง และจะวกกลับไทยทางจังหวัดน่าน

แต่หลังจากที่คุยกันอย่างสนิทสนม ผมกับเพื่อนก็พยายามโน้มน้าวให้ไปเส้นทางเดียวกับเรา ที่เดินทางต่อทางเรืออีกในวันพรุ่งนี้ เพื่อตรงไปหลวงพระบาง แต่พี่ๆก็ยังคงความตั้งใจเดิมไว้อยู่ เรากลุ่มคนไทยเล็กๆบนเรือ จึงแยกกันที่ฝั่งปากแบง

กลับมาที่ที่พักโทรมๆ ที่พวกผมนอน ในสนนราคาคืนละ 200 บาท สภาพก็เป็นเรือนไม้เก่าๆ มีรู มีรอยแยกระหว่างซี่ไม้ ให้เห็นอยู่รอบห้อง ภายในบ้านแบ่งได้ประมาณ 5 ห้อง มีฝรั่งที่เดินทางมาด้วยกันอยู่ในห้องข้างๆ ตกดึก ได้เวลาที่พวกเราจะนอนแล้ว แต่ก่อนจะหลับตาลง พวกเราก็ได้ยินเสียงอะไรบางอย่างที่ชวนให้ตื่นเต้น พลันลุกจากที่นอนด้วยกันทั้งคู่

( ปากแบง ยังเป็นธรรมชาติอยู่มาก อีกหน่อยคงเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยว )

เปล่าครับ ถ้าใครคิดว่าผมจะเจอผีที่เมืองลาวเข้าให้แล้ว แต่เสียงที่พวกผมได้ยินกลับเป็นเสียงเหมือนในหนังผู้ใหญ่ คงไม่ต้องบรรยายอะไรไปมากกว่านี้นะครับ ด้วยความทะลึ่งของพวกเราเลยตัดสินใจ เปิดประตูออกไปฟังให้ใกล้กว่านี้

แต่เวรกรรม เสียงพื้นไม้ที่เราเหยียบลงไปมันดันส่งเสียงดังเอี๊ยดอ๊าด ไอ้ผมก็อดขำถึงพฤติกรรมของพวกเราไม่ได้ ทันที่ที่หลุดขำไปนั้น เสียงของฝรั่งคู่นั่นก็เงียบลงเหมือนจะรู้ว่ามีคนกำลังเดินเข้ามาใกล้อย่างนั้น รู้สึกผิดไงไม่รู้ ได้แต่ค่อยๆย่องกลับห้องแต่โดยดี อดเห็นผีผ้าห่มที่เมืองลาวซะ

ผมกับเพื่อนยังคงฮากับเรื่องที่เกิดขึ้นสักพัก ก่อนจะข่มตาหลับอีกครั้งเพื่อเอาแรงไว้ ลุยกันต่อในวันพรุ่งนี้

วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ศรัทธา... ของผม... ของ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

เป็นเวลา 12 สัปดาห์เต็มที่ผมต้องเฝ้าอยู่หน้าจอ คอยติดตามชมรายการพื้นที่ชีวิต ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย รายการที่นำเสนอเรื่องราวการเดินทางของ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเขียน นักดนตรี นักแสดงผู้รับบทคู่ปรับอินทรีแดง และแน่นอน ทายาทของบุคคลสำคัญ 2 ท่าน คุณเสกสรร ประเสริฐกุล และคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา

นอกจากความน่าสนใจในตัว วรรณสิงห์ ผู้ดำเนินเรื่องแล้ว การประกาศตัวว่าไม่ได้ศรัทธาในศาสนาใด ตั้งแต่ตอนแรกของรายการ และย้ำในทุกครั้งตอนต้นรายการ ว่า

"บางทีการที่เราไม่ศรัทธาในศาสนาพุทธนี่ หรือศาสนาใดๆ ก็ตาม ไม่ได้เป็นเพราะคำว่าศาสนา ไม่ได้เป็นเพราะตัวศาสนา แต่เป็นเพราะสังคมที่เราอยู่มากกว่า ที่เขานำสิ่งที่เรียกว่าศาสนามาแปรเปลี่ยนเป็นบางสิ่งซึ่งเราไม่รู้สึกเชื่อถือเลย" ( ที่มา : สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย )

เป็นสิ่งที่ชวนให้คนดูอย่างผมสงสัย และอยากที่จะติดตามการเดินทางของวรรณสิงห์ ที่ไปยังเมืองต่างๆ ทั่วเอเชีย เพื่อสำรวจศรัทธาของผู้คน ที่มีให้กับศาสนาที่ตนนับถือ ว่าจะให้คำตอบอะไรกับเค้า และตัวผมเองบ้าง

เพราะส่วนหนึ่งของคำถามในใจของวรรณสิงห์ที่มีต่อศาสนา ผมยอมรับว่าเป็นสิ่งที่เป็นคำถามในใจผมเช่นกัน และเชื่อได้เลยว่า มีอีกหลายคนที่ตั้งคำถามนี้ในใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาสนาพุทธที่เราเอ่ยออกมาได้อย่างอัตโนมัติว่าเราเป็นคนพุทธนั้น การตักบาตร ไหว้พระ สวดมนต์ และร่วมพิธีกรรมทางศาสนาในวันสำคัญ ทำให้เราดับทุกข์ได้จริงหรือ

การเดินทางของวรรณสิงห์ เริ่มต้นจากหลวงพระบาง ไปพาราณสี ธรรมศาลา เวียดนาม พุกาม ศรีลังกา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และสุดท้ายจบที่กัมพูชา แต่ละตอนก็จะได้พบ และพูดคุยกับผู้คนในเมืองนั้น ในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ และความคิดเห็นต่อศาสนาที่ตนนับถืออยู่ ( รายละเอียดโปรดติดตามได้ที่เว็บไซต์ทีวีไทยครับ ) แต่ละคนแต่ละประเทศ แต่ละศาสนาก็มีรายละเอียดปลีกย่อยแต่ต่างกันไป

จนถืงเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา ผมได้ชมบทสรุปส่งท้ายของการเดินทางของวรรณสิงห์ ซึ่งก็เป็นวันที่ผมรอคอยว่า ที่เดินทางไปสัมผัสชีวิตผู้คนในหลายประเทศนั้น ให้อะไรกับเค้าบ้าง และจะสรุปอย่างไรกับคำถามต่อศาสนาที่ตั้งไว้แต่แรกก่อนเดินทาง

เพราะในฐานะคนดูคนหนึ่ง สิ่งที่ผมได้รับจากการชมทั้ง 12 ตอนนั้น ที่ได้แน่ๆก็คือได้สัมผัสชีวิตผู้คนในเมืองต่าง ที่คนธรรมดาคนหนึ่งอย่างผมอาจไม่มีโอกาสได้ไปเห็นจริง แต่นั่นอาจถือได้ว่าเป็นความสำเร็จเพียงส่วนเดียว ที่พาผู้ชมไปเปิดโลกทัศน์ อย่างสารคดีต่างประเทศ ประเด็นหลักที่ผมรู้สึกว่าถูกท้าทายไว้แต่แรก เท่าที่ดูมาทั้ง 12 ตอน สำหรับผมยังไม่ได้คำตอบชัดเจนเท่าไรนัก

บทสรุปการเดินทาง จึงเป็นสิ่งที่ผมเฝ้าติดตามตั้งแต่วินาทีแรก วรรณสิงห์ เล่าย้อนทบทวนความประทับใจในแต่ครั้งที่เดินทาง และตั้งข้อสังเกตว่า แต่ละศาสนา มีจุดร่วมจุดหนึ่งที่คล้ายคลึงกันนั่นคือการลดอัตตา ลดตัวตนของแต่ละคนลง เพื่อจะนำมาซึ่งความสุข ที่แน่นอนว่าเป็นแก่นแท้ของหลักธรรมในศาสนาพุทธอยู่แล้ว เช่นเดียวกับแนวความคิดที่นับถือพระเจ้าเป็นสิ่งสูงสุด ของคริสต์และอิสลาม ที่ทำให้แต่ละคนลดความยึดถือตัวตนลง และยังยกตัวอย่างการอยู่ร่วมกันได้ของหลายศาสนาในศรีลังกา และอินเดีย ที่บ่งชี้ว่าความแตกต่างของศาสนา ไม่ได้เป็นสาเหตุของความขัดแย้งในโลก

ดูเหมือนผม จะใจตรงกับวรรณสิงห์อีกครั้ง ที่การเดินทางทั้ง 12 ตอนแม้จะได้เปิดโลกทัศน์ รับความแตกต่างหลากหลายบนโลกนี้ รับรู้ศรัทธาของผู้อื่น แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบชัดเจนเกี่ยวกับศรัทธาของตัวเอง ตอนสุดท้ายนี้ วรรณสิงห์ จึงได้ย้อนกลับมาสำรวจใจตัวเอง ด้วยการเดินทางไปยังสวนโมกข์ ที่ซึ่งชาวพุทธทั้งหลายให้การยอมรับถึงแนวทางปฎิบัติ หลักคิดต่างๆ ตามแนวของท่านพุทธทาส

และตอนนี้เองที่ ผม ก็รู้สึกอย่างเดียวกับ วรรณสิงห์ ที่เห็นได้ว่า เปลือกนอกของศาสนาพุทธ ได้หลุดร่อนออกไป เหลือแต่แก่นแท้ของหลักธรรมคำสอน

และแม้จะยังไม่สามารถ นำหลักธรรมอันเป็นเนื้อแท้ของพุทธศาสนามาใช้นำทางชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ แต่ผมก็รู้สึกเช่นเดียวกับวรรณสิงห์อีกครั้ง ว่าสิ่งนี้แหละ ที่ใกล้เคียงกับคำตอบของศรัทธาในตัวเองที่สุดแล้ว

ไม่จำเป็นที่ผมจะต้องไปไล่เลียงคำตอบอะไรกับวรรณสิงห์อีก เพราะเจ้าตัวเองก็บอกแล้วว่าเป็นเพียงมุมมองของคนคนหนึ่ง ส่วนตัวผมเองคิดว่า เราชาวพุทธโดยกำเนิดนี้ แม้จะละเลยศาสนา ห่างไกลวัดวาไปบ้าง แต่เท่าที่เราเจริญเติบโตมา ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นเมืองพุทธ การเลี้ยงดูจากพ่อแม่ที่ก็เป็นคนพุทธนั้น ทำให้ผมซึมซับหลักของพุทธศาสนาไปแบบไม่รู้ตัว ทั้งเรื่องของความดีความชั่ว บาปบุญคุณโทษ เรื่องของความสุข ความทุกข์ หนทางของการดับทุกข์ และทุกสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงแท้

สำหรับตัวผมเอง แม้จะยังมีคำถามต่อบรรดาพิธีกรรม วัด และพฤติกรรมของพระสงฆ์บางรูป ซึ่งก็เป็นเพียงเปลือกนอก แต่ในใจลึกๆแล้วก็มั่นใจได้ว่า หลักธรรมของพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่ศรัทธาได้อย่างแท้จริง

ขอบคุณทีวีไทย รายการพื้นที่ชีวิต และวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ที่ทำให้ผมได้เปิดโลกทัศน์ ได้ย้อนกลับมาคิดถึงศรัทธาในตัวเองอีกครั้ง

( ขอบคุณข้อมูล และภาพทั้งหมดจาก http://www.thaipbs.or.th/Life/ )